Liebknecht, Karl (1871-1919)

นายคาร์ล ลีบเนชท์ (๒๔๑๔-๒๔๖๒)

     คาร์ล ลีบเนชท์ เป็นนักปฏิวัติสังคมนิยมทนายความ และสมาชิกสภาไรค์ชตาก (Reichtag)* สังกัดพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี (German Social Democratic Party - SPD)* เขาร่วมกับโรซา ลักเซมบูร์ก (Rosa Luxemburg)* จัดตั้งองค์กรปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ (Marxism)* ที่เรียกชื่อว่า สันนิบาตสปาร์ตาคัส (Spartacus League) ขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๑๔ หลังการปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน (November Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๘ ลีบเนชท์พยายาม ก่อการปฏิวัติขึ้นที่กรุงเบอร์ลินในต้นเดือนมกราคม ค.ศ.๑๙๑๙ เพื่อโค่นอำนาจสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* แต่ประสบความล้มเหลวและถูกจับคุมขังลีบเนชท์ถูกสังหารอย่างทารุณในคุกโดยสมาชิกกองกำลังอิสระ (Free Corps)* ซึ่งเป็นกองกำลังพลเมืองติดอาวุธนอกเครื่องแบบของเยอรมนีระหว่าง ค.ศ. ๑๙๑๙-๑๙๒๓
     ลีบเนชท์เกิดในครอบครัวนักการเมืองแนวสังคมนิยมที่เมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ค.ศ. ๑๘๗๑ วิลเฮล์ม ลีบเนชท์ (Wilhelm Lirbknecht)* ผู้บิดาเป็นสมาชิกสภาไรค์ชตาก นักต่อสู้แนวทางสังคมนิยมคนสำคัญ ส่วนมารดามาจาก ครอบครัวชนชั้นสูงที่มั่งคั่ง เขามีน้องชาย ๑ คนซึ่งสนิทกันมาก ลีบเนชท์เป็นเด็กเรียนเก่งและได้รับทุนการศึกษาของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันเข้าศึกษากฎหมายและเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิกและมหาวิทยาลัยเบอร์ลินจนสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมายใน ค.ศ. ๑๘๙๓ ระหว่างศึกษาที่มหาวิทยาลัยเบอร์ลิน เขาถูกเพื่อนนักศึกษาหัวก้าวหน้าชักจูงให้สนใจแนวความคิดลัทธิมากซ์ และเข้าร่วม เคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมือง ลีบเนชท์จึงตั้งปณิธานว่าจะเป็นนักกฎหมายต่อสู้เพื่อปกป้องประชาชนที่ถูกกดขี่และยากไร้ รวมทั้งเผยแพร่แนวความคิดลัทธิมากซ์หลังสำเร็จการศึกษาเขาถูกเกณฑ์เข้ารับราชการทหารสังกัดอิมพีเรียล ไพโอเนียร์ การ์ด (Imperial Pioneer Guard) ที่เมืองปอตสดัม (Potsdam) ระหว่าง ค.ศ. ๑๘๙๓-๑๘๙๔ หลังปลดประจำการลีบเนชท์ยึดอาชีพเป็นทนายความที่แคว้นเวสฟาเลีย (Westphalia) อยู่ระยะหนึ่งก่อนย้ายมาทำงานที่กรุงเบอร์ลินใน ค.ศ. ๑๘๙๘
     ใน ค.ศ. ๑๘๙๙ ลีบเนชท์และเทโอดอร (Theodore) น้องชายร่วมกันเปิดสำนักงานทนายความขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ในเวลาอันสั้นพี่น้องทั้ง ๒ คนก็สร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในฐานะเป็นทนายหัวเห็ดผู้ต่อสู้เพื่อประชาชนและปกป้องนักการเมืองที่ถูกอำนาจรัฐกลั่นแกล้ง ลีบเนชท์ยังเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและสังคมของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันจนมีบทบาทเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในพรรค ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ เขาแต่งงานกับยูลี พาราดิส (Julie Paradis) นักเคลื่อนไหวที่มีฐานะมั่งคั่ง และในเวลาต่อมามีบุตรชาย หญิงด้วยกันรวม ๓ คน หลังงานพิธีสมรสได้ไม่นานนักบิดาของลีบเนชท์ก็ถึงแก่กรรมในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๐๐
     ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๑๐ ลีบเนชท์มีโอกาสพบและสนิทสนมกับกลุ่มนักปฏิวัติชาวรัสเซียที่ลี้ภัยในเมืองมิวนิก เยอรมนี เขาสนับสนุนแนวความคิดเรื่องการสร้างพรรคปฏิวัติแนวทางลัทธิมากซ์ของวลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin ค.ศ. ๑๘๗๐-๑๙๒๔)* ผู้นำองค์การปฏิวัติลัทธิมากซ์นอกประเทศ ลีบเนชท์ช่วยลักลอบนำหนังสือพิมพ์ใต้ดินและเอกสารการเมืองของกลุ่มนักปฏิวัติรัสเซียเข้าไปเผยแพร่ในรัสเซีย เมื่อมีโอกาสเขา ก็ช่วยประสานงานการเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มดังกล่าวด้วย ใน ค.ศ. ๑๙๐๔ เขาว่าความปกป้องชาวนาที่ถูกข้อหาลักลอบนำเอกสารสังคมนิยมจากปรัสเซียตะวันออกเข้าไปในรัสเซีย การว่าความดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายจะกล่าวขอโทษต่อสาธารณชนในนามของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งมักดำเนินนโยบายสนับสนุนรัฐบาลและต่อต้านกลุ่มสังคมนิยม และใช้ศาลเป็นเวทีวิพากษ์โจมตีลัทธิทหารนิยมของรัฐบาล ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ลีบเนชท์ถูกจับด้วยข้อหาเผยแพร่จุลสารเรื่อง Militarism and Antimilitarism วิพากษ์โจมตีกองทัพและรัฐบาล เขาถูกตัดสินจำคุกรวม ๑๘ เดือนที่ เมืองกลัทซ์ (Glatz) ในแคว้นไซลีเซีย (Silesia)
     อย่างไรก็ตาม การต่อต้านลัทธิทหารนิยมของเขามีส่วนทำให้ลีบเนชท์ซึ่งยังคงถูกจำคุกได้รับเลือกเป็นผู้แทนท้องถิ่นของรัฐสภาปรัสเซียใน ค.ศ. ๑๙๐๘ ใน ค.ศ. ๑๙๑๐ ยูลีภริยาของเขาเสียชีวิต ลีบเนชท์พยายามกำจัดความโศกเศร้าด้วยการทุ่มเททำงานให้กับองค์การสหภาพสากลแห่งเยาวชนสังคมนิยม (InternationalUnion of Socialist Youth Organization) ที่เขาเคยร่วมก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๗ ในช่วงนี้เขาได้รู้จักและพบรักกับโซเฟียรึสส์ (Sophia Ryss) นักเคลื่อนไหวสตรีสัญชาติรัสเซีย ซึ่งจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก (Heidelberg) คนทั้งสองแต่งงานกันใน ค.ศ. ๑๙๑๒ และในปีเดียวกันนั้น ลีบเนชท์ก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนสภาไรค์ชตากในฐานะเป็นกระบอกเสียงคนสำคัญของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในการต่อต้านรัฐบาลและเป็นผู้นำกลุ่มปีกซ้ายของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันในการต่อต้านการเคลื่อนไหวภายในพรรคที่ เบี่ยงเบนจากลัทธิมากซ์ ใน ค.ศ. ๑๙๑๓ เขากล่าวหาตระกูลครุพพ์ (Krupp Family)* ว่ามีส่วนกระตุ้นความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันเพื่อจุดชนวนสงครามซึ่งจะทำให้บริษัทครุพพ์ได้ประโยชน์จากการผลิตอาวุธ
     เมื่ออาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Archduke Francis Ferdinand ค.ศ. ๑๘๖๓-๑๙๑๔)* รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austro-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ ณ กรุงซาราเยโว (Sarajevo) เมืองหลวงของบอสเนียซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุของสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ (William II)* ซึ่งทรงสนับสนุนออสเตรีย-ฮังการีได้ประกาศสงครามต่อรัสเซียและฝรั่งเศสในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ลีบเนชท์ เคลื่อนไหวต่อต้านการเข้าร่วมสงครามของเยอรมนีและเป็นสมาชิกคนเดียวของพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันที่ฝ่าฝืนมติพรรคในการออกเสียงคัดค้านการเข้าสู่สงครามของเยอรมนีในต้นเดือนธันความ ค.ศ. ๑๙๑๔ ในปลายเดือนธันวาคมปีเดียวกันลีบเนชท์และผู้นำคนสำคัญหลายคนของกลุ่มสังคมนิยมซึ่งรวมทั้งโรซา ลักเซมบูร์ก ฟรันซ์ เมริง (Franz Mehring) เลโอ โยกิชส์ (Leo Jogiches) และคลารา เซทคิน (Clara Zetkin)* ร่วมกันจัดตั้งองค์การปฏิวัติใต้ดินที่เรียกชื่อว่าสันนิบาตสปาร์ตาคัสขึ้น สันนิบาตสปาร์ตาคัสสนับสนุนแนวนโยบายของพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ที่มีเลนินเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ใช้วิกฤตการณ์สงครามก่อการปฏิวัติเพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมืองและการจะเปลี่ยนสงครามจักรพรรดินิยมให้เป็นสงครามการเมือง ลีบเนชท์ยังทำหน้าที่เป็นบรรณาธิการ Spartacus Letters หนังสือพิมพ์การเมืองของกลุ่มเพื่อเผยแพร่แนวความคิดและแนวทางการปฏิวัติ จุลสารการเมืองเรื่องสำคัญที่ตีพิมพ์และมีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการสังคมนิยมเยอรมันอย่างมากคืองานเขียนของโรซา ลักเซมบูร์กเรื่อง The Crisis in the German Social Democracy ( ค.ศ. ๑๙๑๖)
     ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๑๕ ลีบเนชท์ถูกเกณฑ์เข้าร่วมรบในกองทัพแต่ก็ได้รับอนุญาตให้ลาพักได้ในช่วงที่มีการประชุมรัฐสภา เขาถูกส่งไปทำงานในแนวรบรัสเซียด้านตะวันออกโดยทำหน้าที่ช่วยงานครัวและฝังศพทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากเขาปฏิเสธที่จะจับอาวุธทำสงคราม อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรมลงทำให้เขาได้รับอนุญาตให้กลับเยอรมนีในเดือน ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๕ ลีบเนชท์หันมาเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามและสนับสนุน "แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์" (Zimmerwald Manifesto) ของขบวนการนักสังคมนิยมยุโรปสายกลางที่โจมตีพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนสงครามและเรียกร้องให้ยึดหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเองของประชาชน (self-determination of people) ในการยุติสงครามโดยปราศจากการยึดครองดินแดนและค่าปฏิกรรมสงครามบทบาทดังกล่าวทำให้เขาถูกขับออกจากพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมัน
     ใน ค.ศ. ๑๙๑๖ ลีบเนชท์เคลื่อนไหวสนับสนุนให้พรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระแห่งเยอรมนี (Independent Social Democratic Party of Germany) รวมเข้ากับสันนิบาตสปาร์ตาคัสจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนี แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเพราะเขาถูกจับในวันแรงงาน (May Day) ปีเดียวกัน สันนิบาตสปาร์ตาคัสได้ออกมาเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยในวันแรงงานด้วยการชุมนุมเดินขบวนต่อต้านสงครามอย่างสงบที่กรุงเบอร์ลิน ลีบเนชท์ยังเรียกร้องให้โค่นอำนาจรัฐบาลเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่และยุติสงครามเขาถูกจับด้วยข้อหาทรยศและบ่อนทำลายความมั่นคงของชาติ ศาลตัดสินโทษให้จำคุกเขาเป็นเวลา ๒ ปี ๖ เดือน ลีบเนชท์ยื่นอุทธรณ์คดีแต่ประสบความล้มเหลวและถูกพิจารณาโทษเพิ่มเป็นจำคุก ๔ ปี ๑ เดือน ในช่วงรอการพิจารณาคดีเขาเขียนงานสำคัญ ๒ เรื่อง คือ Revolutionary Socialism in Germany ( ค.ศ. ๑๙๑๖) และ The Main Enemy Is At Home ( ค.ศ. ๑๙๑๖) เผยแพร่ใน หนังสือพิมพ์สังคมนิยม Vorwärts โดยชี้ให้เห็นปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและการเตรียมเข้าสู่สงครามของรัฐบาล
     ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ เมื่อเยอรมนีเตรียมเปิดการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรมัททีอัส แอร์ซแบร์เกอร์ (Mattias Erzberger ค.ศ. ๑๘๗๕-๑๙๒๑)* ผู้นำปีกซ้ายของพรรคเซนเตอร์ (Centre Party)* จึงเห็นเป็นโอกาสรวมเสียงข้างมากในสภาไรค์ชตากเคลื่อนไหวปฏิรูปการเมืองเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของฝ่ายสัมพันธมิตร เจ้าชายมักซีมีเลียนแห่งบาเดิน (Prince Maximilian of Baden) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเจ้าชายมักซ์ทรงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในต้นเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ และคณะรัฐบาลของพระองค์ประกอบด้วยสมาชิกพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันและฝ่ายเสรีนิยมปีกซ้าย เจ้าชายมักซ์ทรงเปิดการเจรจายุติสงครามกับฝ่ายสัมพันธมิตรและทรงปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา ตลอดจนนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองทั้งหมด ลีบเนชท์จึงได้รับการปล่อยตัว และรัฐบาลโซเวียตจัดงานเลี้ยงรับอิสรภาพของเขาที่สถานทูตโซเวียตประจำกรุงเบอร์ลิน
     ในต้นเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘ กะลาสีเรือที่ฐานทัพเรือเมืองคีล (Kiel) ก่อการจลาจลคัดค้านคำสั่งให้ออกรบเพื่อโจมตีกองทัพเรืออังกฤษในทะเลเหนือ มีการปะทะกันขึ้นระหว่างฝ่ายทหารเรือกับกะลาสีและข่าวการนองเลือดที่เกิดขึ้นได้จุดชนวนการเคลื่อนไหวปฏิวัติของกรรมกรและมวลชนในพื้นที่ใกล้ฐานทัพเรือเมืองคีลและเมืองใกล้เคียง มีการจัดตั้งแรเทอ (Räte) หรือสภาผู้แทนกรรมกรและกะลาสีเรือแบบอย่างสภา โซเวียต (Soviet) ของรัสเซีย ในเวลาอันสั้นการเคลื่อนไหวทางการเมืองดังกล่าวก็ขยายตัวไปตามเมืองใหญ่และพัฒนาเป็นการปฏิวัติที่เมืองมิวนิกและกรุงเบอร์ลินซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เรียกกันว่าการปฏิวัติเดือน พฤศจิกายน ลีบเนชท์จึงเห็นเป็นโอกาสเรียกร้องให้กรรมกรเตรียมก่อการปฏิวัติขึ้นตามแบบการปฏิวัติเดือนตุลาคม (Oetober Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ ในรัสเซีย โดยสันนิบาตสปาร์ตาคัสเป็นผู้ชี้นำและเตรียม การลุกฮือเพื่อยึดอำนาจ ฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert ค.ศ. ๑๘๗๑-๑๙๒๕)* นายกรัฐมนตรีคนใหม่ซึ่งสืบทอดอำนาจจากเจ้าชายมักซ์ที่ทรงลาออกเพราะควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ พยายามแก้ไขวิกฤตการณ์โดยทำความตกลงกับจอมพล วิลเฮล์ม เกรอเนอร์ (Wilhelm Groener) ให้สนับสนุนเขาและช่วยป้องกันการก่อการปฏิวัติของฝ่ายคอมมิวนิสต์ เกรอเนอร์จึงกราบทูลให้ไกเซอร์วิลเลียมที่ ๒ ทรงสละราชย์และประกาศสนับสนุนเอแบร์ทเพื่อให้ดำเนินการเลือกตั้งและร่างรัฐธรรมนูญขึ้นโดยเร็ว ต่อมาในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ฟิลิปป์ ไชเดอมันน์ (Philip Schiedemann) ผู้นำพรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันซึ่งร่วมอยู่ในคณะรัฐบาลชุดใหม่ก็รีบประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันขึ้นเนื่องจากเกรงว่าฝ่ายคอมมิวนิสต์จะก่อการปฏิวัติและประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐสังคมนิยมเยอรมันขึ้นก่อน
     การประกาศจัดตั้งสาธารณรัฐเยอรมันสร้างความโกรธแค้นแก่กลุ่มสังคมนิยมและฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างมาก ลีบเนชท์จึงรวมกลุ่มสังคมนิยมและสันนิบาตสปาร์ตาคัสจัดตั้งเป็นพรรคคอมมิวนิสต์แห่งเยอรมนีขึ้นเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ในการประชุมเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ลีบเนชท์และโรซาลักเซมบูร์กเสนอให้พรรคคอมมิวนิสต์ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปที่รัฐบาลจะกำหนดขึ้น แต่สมาชิกส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยและให้เตรียมการยึดอำนาจที่กรุงเบอร์ลินด้วยการลุกฮือติดอาวุธ การเคลื่อนไหวของฝ่ายซ้ายได้เปิดทางให้เอแบร์ทใช้กองทัพและกองกำลังอิสระซึ่งเป็นกองกำลังพลเมืองติดอาวุธนอกเครื่องแบบเข้า ปราบปรามและกวาดล้างฝ่ายคอมมิวนิสต์ การปราบ ปรามอย่างนองเลือดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ ผู้นำคนสำคัญของฝ่ายกบฏซึ่งรวมทั้งลีบเนชท์และโรซา ลักเซมบูร์กพยายามหลบหนีแต่ก็ถูกตามล่า ทุกตารางนิ้วของกรุงเบอร์ลินจนถูกจับได้ในคืนวันที่ ๑๕ มกราคม คนทั้งสองรวมทั้งสมาชิกพรรคอีกนับร้อยคนถูกตัดสินโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ลีบเนชท์ซึ่งถูกทรมานอย่างทารุณถูกยิงทิ้งในคุกในคืนวันที่ ๑๕ ด้วยข้อหาพยายามจะหลบหนีคาร์ลลีบเนชท์เสียชีวิตขณะอายุ ๔๘ ปี.



คำตั้ง
Liebknecht, Karl
คำเทียบ
นายคาร์ล ลีบเนชท์
คำสำคัญ
- คีล, เมือง
- ไชเดอมันน์, ฟิลิป
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- เกรอเนอร์, วิลเฮล์ม
- พรรคสังคมประชาธิปไตยอิสระแห่งเยอรมนี
- พรรคเซนเตอร์
- ออสเตรีย-ฮังการี, จักรวรรดิ
- แถลงการณ์ซิมเมอร์วัลด์
- องค์การสหภาพสากลแห่งเยาวชนสังคมนิยม
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- รึสส์, โซเฟีย
- วิลเลียมที่ ๒, ไกเซอร์
- เมริง, ฟรันซ์
- ฟรานซิส เฟอร์ดินานด์, อาร์ชดุ๊ก
- เลนิน, วลาดีมีร์
- โยกิชส์, เลโอ
- พาราดิส, ยูลี
- พรรคบอลเชวิค
- ซาราเยโว, กรุง
- ไซลีเซีย, แคว้น
- เซทกิน (เซทคิน), คลารา
- ครุพพ์, ตระกูล
- สภาไรค์ชตาก
- สาธารณรัฐไวมาร์
- กลัทซ์, เมือง
- เวสต์ฟาเลีย, แคว้น
- สันนิบาตสปาร์ตาคัส
- ลัทธิมากซ์
- ลีบเนชท์, วิลเฮล์ม
- ไลพ์ซิก, เมือง
- ลีบเนชท์, คาร์ล
- ลักเซมบูร์ก, โรซา
- พรรคสังคมประชาธิปไตยเยอรมันหรือพรรคเอสพีดี
- การปฏิวัติเดือนพฤศจิกายน
- ปอตสดัม, เมือง
- กองกำลังอิสระ
- มักซีมีเลียนแห่งบาเดิน, เจ้าชาย
- แอร์ซแบร์เกอร์, มัททีอัส
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1871-1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
๒๔๑๔-๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
-
แหล่งอ้างอิง
หนังสือ สารานุกรมประวัติศาสตร์สากลสมัยใหม่ : ยุโรป เล่ม ๕ อักษร L-O ฉบับราชบัณฑิตยสถาน กองธรรมศาสตร์และการเมือง 2.L 1-142.pdf